History of bead ! in thailand
ลูกปัดแก้วโมเสคหลากหลายรูปแบบ
จากดินแดนโรมัน เมโสโปเตเมีย (ปาเธี่ยน - ซัสสาเนียน - เปอร์เซีย - อิสลามมิค)และอินเดีย
พบตามแหล่งชุมชนโบราณในประเทศไทย ตั้งแต่เพชรบูรณ์จรดกระบี่
อายุของลูกปัดประมาณพุทธศตวรรษที่ 5 - 15
“ลูกปัดแก้วโมเสค – เปอร์เซีย - โรมัน” (Mosaics -Persian - Roman) คือ ลูกปัดที่มีการจัดเรียงลวดลายของแก้วสีและเส้นสีที่สวยงาม มีความหมายในทางความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ (Animism) และศาสนา เป็นเครื่องประดับหรือเครื่องรางที่เกิดขึ้นจาก “เทคโนโลยี” และ “ภูมิปัญญา” ของมนุษย์ ในการควบคุมความร้อนเพื่อการหลอมเหลว การคุมความหนืดของแก้ว เคมีและศิลปะในการรังสรรค์ลวดลายเส้นสีที่สวยงาม จัดเรียงได้อย่างลงตัว มีความหมาย
ลูกปัดแก้วโมเสค (Mosaic Glass Beads) ปรากฏตัวในวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นครั้งแรก เมื่อราว 3,000 – 4,000 ปีที่แล้ว หลังจากการเกิดของเทคโนโลยีการหลอม “แก้ว” กว่าความงดงามจะเดินทางเข้ามาสู่ดินแดนตะวันออกของโลก ก็ต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ เรื่องราวของ “การค้าทางทะเล” ที่ต้องอาศัย “ลมมรสุม” พัดพาเรือสินค้าวานิช จากตะวันตกสู่ตะวันออก จากอินเดียมายังสุวรรณทวีป ตามหลักฐานวรรณกรรมชาดก “พระมหาชนก” ที่มีเค้าโครงของเนื้อหา อธิบายการเดินทางของ “ลูกปัดแก้วโมเสค –เปอร์เซีย - โรมัน” จากแดนไกล ได้เป็นอย่างดี
.
เราอาจจะกล่าวได้ว่า “อุษาคเนย์” หรือแผ่นดิน “อินโด – แปซิคฟิค” เริ่มรู้จัก นิยมและแสวงหาเครื่องประดับ “ลูกปัดแก้วโมเสค - โรมัน” เป็นครั้งแรก ภายหลังจากการรุกรานเข้าสู่อินเดียตะวันตกโดยชาวกรีก - มาซีโดเนีย
.
เมื่อราวปี 327 ก่อนคริสตกาล (พุทธศตวรรษที่ 2 ) “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชา” (Alexander The Great) พร้อม ด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยไพร่พลจากมาซีโดเนีย กรีก อียิปต์ เอเชียไมเนอร์และเปอร์เซียน กว่า 150,000 คน มุ่งหน้าเข้ายึดครอง “นครตักศิลา” (Taxila) ซึ่งในเวลาไม่นานนับจากนี้ นครแห่งนี้ จะได้กลายเป็น “ประตูการค้า” (Trade Gate) ศูนย์กลางการคมนาคม (Hub) เชื่อมต่อดินแดนห่างไกลอย่าง เมดิเตอริเนียน อนาโตเลีย (ตรุกี) อียิปต์ ปาเลสไตน์ ซีเรีย เมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย เข้าสู่ดินแดน “ชมพูทวีป”
.
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการ “เชื่อมต่อ” (Linking) อารยธรรมของมนุษย์ในโลกยุคโบราณเข้าหากันเป็นครั้งแรก !!!
ลูกปัดแก้วโมเสค จากอ่าวบ้านดอน
ที่พุมเรียง แหลมโพธิ์ ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีจุดเด่นที่ลูกปัดหลายมนต์ตา สีน้ำเงิน ตาขาว ที่เรียกว่า "ลูกยอ" (Stratified eye beads)
.
ระบบการปกครองของอเล็กซานเดอร์ คือระบบ“จักรวรรดิ” ที่รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์ “อาร์คีเมนิค (Achaemenid)” จักรวรรดิเปอร์เซีย ผู้ปกครองเมโสโปเตเมีย และถูกดัดแปลงมาผสมผสานกับความเชื่อในลัทธิศาสนา เรียกกันว่า “จักรพรรดิราชา” ส่งต่อมายังบ้านเมืองในอินเดีย และอุษาคเนย์ ในอีก “หลายศตวรรษ” ต่อมา
.
เล่ากันว่า จอมราชันย์แห่งมาซีโดเนียมุ่งหวังที่จะยกกองทัพที่“ไม่เคยพ่าย” เดินทางรุกคืบหน้าต่อจากอินเดียไปอีกจนถึง “ดินแดนสุดขอบโลก” ที่ซึ่งเทพพระอาทิตย์ส่องสว่าง ตาม “ความเชื่อ” ที่ว่าโลกมีสัณฐานแบนและมีจุดสิ้นสุดที่ขอบโลก
.
สุดขอบโลกจะเป็นที่ตั้งของแม่น้ำในตำนาน ชื่อ ”โอเชี่ยน”แม่น้ำที่ไม่มีใครสามารถข้ามไปได้ แต่พระองค์ต้องการจะข้ามไปสู่สรวงสวรรค์ให้ได้ แต่ความมุ่งหวังของพระองค์ก็ต้องสิ้นสุดลงด้วยความขมขื่น เมื่อกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในยุคโบราณต้องประสบกับความ”ปราชัย” เป็น ครั้งแรก เป็นความพ่ายแพ้ที่ปวดร้าวทางจิตใจ เมื่อเหล่าแม่ทัพและทหารหาญของพระองค์ที่เหนื่อยล้าและคิดถึงบ้าน เกินกว่าที่จะเชื่อฟังคำสั่งและเกรงกลัวอาญา
ลูกปัดโมเสคสี จากภาคใต้ ที่มีลวดลายแตกต่างกัน
แต่ส่วนใหญ่จะมีคติความเชื่อเรื่อง "ดวงตาเทพเจ้า" เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน
ลูกปัตาทรงโยโย่ หรือรอก ลูกปัดนกยูงหรือลูกปัดแบบม้วนประกบ
ลูกปัดตาทรงรักบี้ ลูกปัดกากบาท ลูกปัดม้าสี หรือลูกปัดริ้วประกบ
ลูกปัดทรงทุ่นหรือที่เรียกว่า "ข้าวต้มมัด" (Collared beads or bipolar beads)รูปทรงเฉพาะของคลองท่อม มีลายพาดเฉียง บางครั้งถูกเรียกว่า "ลูกปัดทุ่น พาดฟิล์ม" ลูกปัดชนิดนี้พบมากที่คลองท่อมและกระจายไปยังลพบุรี มีสีเขียว ฟ้า และน้ำตาลไหม้
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงจำต้องยกมหากองทัพกลับสู่บาบิโลนเนีย กองทัพที่ยิ่งใหญ่ได้ถอยกลับไปจากชมพูทวีปแล้ว .....และในเวลาไม่นาน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ก็เสด็จสู่ปรโลก ขึ้นไปสถิตอยู่กับ “ซุส”หรือ “ซีอุส” (Zeus) มหาเทพที่พระองค์กล่าวอ้างว่าเป็น “พระบิดา” อยู่เสมอ บนยอดโอลิมปัส (
.
หาก พระองค์ยังคงมีพระชนม์ชีพอยู่ มหากองทัพแสงยานุภาพแห่งมาซีโดเนีย ก็น่าจะเข้ามาสู่ที่ราบสูงทิเบอตัน สัปยุทธ์เอาชนะชาวฮั่นในช่วงที่กำลังแตกแยกในยุค “จ้านกว๋อสือไต้” หรือยุคก่อนเกิด “จิ๋นซีฮ่องเต้”ประมาณ 200 ปี และพระองค์ก็คงกรีฑาทัพลงสู่แหลมไครเส เคอรโสเนโสสอันได้แก่ “อุษาคเนย์“ เอาชนะชนเผ่าป่าเถื่อนอย่างพวก“มองโกลอยด์ ผสม นิกริโต
ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ และลูกปัดแก้วสีเดี่ยว จากแหล่งชุมชนดบราณจังหวัดอ่างทอง ถึงแม้ว่าการผลิต "ลูกปัด" จากวัตถุดิบ "หินกึ่งรัตนชาติ" (Semi - Precious) อันได้แก่ "อะเกต คาลซีโดนี" สีน้ำตาลวาวสลับเลื่อม "โอนิกซ์" สีดำขาวตัดเส้นชั้นสวยงาม "คาเนเลี่ยน" สีส้มสด"คริโซเพรส" สีเขียวตองอ่อนใส หินแก้วผลึก "คลิสตัลควอทซ์" ของลุ่มน้ำสินธุ และ "ลาปิสลาซูลี่" สีน้ำเงิน "อเมทิส" พลอยดอกตะแบกสีม่วงและ "สตีไตท์" สี แวววาว ที่มีแหล่งวัตถุดิบในตรุกีและเปอร์เซีย จะมีมานานกว่า 4,000 ปีแล้วก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์และความนิยม ก็ยังคงกระจายตัวจำกัดอยู่ในเขตเมโสโปเตเมีย – อียิปต์ และอินเดียเท่านั้น . เมื่อ ปรากฏอิทธิพลของชาวกรีกและลูกผสมกรีกอินเดีย (อารยัน) ในยุคสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชา ตามมาด้วยเหล่าผู้ปกครองใจกลางทวีปเอเชียอย่าง พระเจ้าซีเลอูคัส นิคาเตอร์ (Seleucus) พระเจ้าอันติโอคัส เทโอส (Amtiochus Theos) พระเจ้าหัวช้างเดเมตริอุส ( Demetrius) และพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) หรือพระเจ้ามิลินท์ ความต้องการสินค้าและความนิยมใน หินกึ่งรัตนชาติของชาวกรีก – โรมัน เปอร์เซียและอียิปต์ ได้เร่งเร้าให้เกิด “อุตสาหกรรมการผลิต” ลูก ปัดหินกึ่งอัญมณีขึ้นอย่างกว้างขวางในหุบเขาสินธุ และเกิดอุตสาหรรมการผลิตลูกปัดแก้วแบบกรีก โรมัน เปอร์เซียน อนาโตเลีย ตามเมืองท่าการค้าสำเภา ที่กำลังเติบโตขึ้นทั้งสองฝั่งคาบสมุทรอินเดีย |
"คติความเชื่อ" เรื่องดวงตาปีศาจ - บรรพบุรุษ (evil eye beads) เป็นคติเริ่มต้นของการสร้าง "ลูกปัดมนต์ตา" มีความเชื่อว่าโลกนี้มีปีศาจหรือผีบรรพบุรุษคอยคุ้มครอง หากเรานำดวงตาปีศาจมาใช้ ในรูปแบบของเครื่องประดับหรือเครื่องราง ปีศาจก็จะคอยปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย คติความเชื่อเรื่องดวงตาจากยุคเก่าแก่ ได้ถ่ายทอดมาสู่ยุคต่อมา เกิดการสร้างลูกปัดที่มีดวงตา เรียกว่า Magical eye beads หรือลูกปัดตาที่มีอำนาจ และพัฒนาศิลปหัตถกรรมการประดิษฐ์ กลายมาเป็น "ลูกปัดโมเสค" ที่มีสีสันและลวดลายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังมี "ดวงตาปีศาจ" เป็นลวดลายสำคัญ |
ลูกปัดแก้ว เครื่องรางรูปดวงตาปีศาจหลากสไตล์ คติความเชื่อเก่าแก่ในโลกยุคปัจจุบัน นิยมแขวนไว้หน้าบ้าน ทางเข้า หน้ารถและพกพา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความโชคร้าย . ใน ยุคของพระเจ้าพินธุสารและพระเจ้าอโศกมหาราช พระราชบุตรทั้งสองพระองค์ของพระเจ้าจันทรคุปต์ อาณาจักรมคธราฐ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นคร “ปาฏลิบุตร” หรือ “ปาลิโบตระ” (Palibothra)ในเขตลุ่มแม่น้ำคงคา ได้กลับมามีอิทธิพลเหนือหุบเขาสินธุ แหล่งวัตถุดิบในการผลิต “ลูกปัด” หินกึ่งรัตนชาติอีกครั้ง และเมื่อจักรวรรดิกรีกเบคเตรีย (โยนก) เพลี่ยงพล้ำต่อจักรวรรดิใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่าง“โรมัน” ในเมดิเตอริเนียน “นครตักสิลา” ประตูแห่งการค้าและวาณิช ก็ได้กลับคืนมาสู่อิทธิพลของราชวงศ์โมลียะโดยสมบูรณ์ . ด้วยอิทธิพลของศิลปวิทยาการนานาแขนงจากกรีกและเปอร์เซีย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว ชุมชนเมืองดั่งเดิมในอินเดียเหนือพัฒนาขึ้นเป็น “สังคมเมือง (Urban Society)” มีการสร้างกำแพงเมืองด้วยหินและอิฐที่คงทน เพื่อป้องการรุกรานจากศัตรู มีการนำเทคนิคการก่ออิฐและหินมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร ศาสนสถาน และแกะสลักรูปเคารพทางศาสนา . พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างระบบสาธารณสุข ระบบเงินตราที่นำเหรียญกษาปณ์แบบกรีก – เปอร์เซียมาใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทรงปรับปรุงระบบการสื่อสาร มีการใช้ตราประทับดินเผาเป็นสัญลักษณ์กลุ่ม และเกิดระบบไปรษณีย์ เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างสถาบันกษัตริย์ การเมือง การค้าขายและการศาสนา พัฒนาความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ มีการวางระบบตัวอักษร“พราหมี” และ “ขโรฐี” ขึ้น ใช้เป็นแบบแผนทั่วจักรวรรดิ ทรงนำรูปแบบระบบปกครองแบบ“จักรวรรดิ” ของเปอร์เซีย มาใช้ปกครองแคว้น “มคธราฐ” |
|
4 comments:
เหรียญยังมีสองด้าน.......
แล้ว ขอถามกลับ บ้างนะครับ ว่า ....
หากไม่มีนักสะสม นักขุด นักลักลอบ ...หรือแล้วแต่
ที่จะเรียกกัน ถ้าไม่มีพวกเค้าเหล่านั้น เราจะได้เห็นลูกปัดเหล่านี้ หรือไม่ ....
ที่ดินชาวบ้าน ชาวบ้านขุดเพื่อขาย นักสะสมซื้อเพื่อสะสม ก็ถือว่าเป็นแนวอนุรักษ์เล็กๆอย่างนึง เพราะไม่เคยเห็นมีใครซื้อลูกปัดโบราณไป ทำลายทิ้งเลย...
แล้วถ้าท่านที่คิดไม่ตรงกับผม ผมมีขอเสนอ ทางออก
รัฐยืนมือเข้ามาสิครับ ชาวบ้านขุด มอบให้ภาครัฐนำเข้าพิพิธภัณฑ์ ส่วนนึง อีกส่วนนึง ชาวบ้านขายให้นักสะสม
คนไทยนะพี่คุยกันง่าย น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า...
ชาวบ้านก็ภูมิใจได้มีชื่อ เป็นผู้บริจาค เป็นเกียรติแก่ตระกูล
ภาครัฐ ประหยัดงบขุดค้นและดูแลรักษา
ข้าราชการทำงานร่วมกับชาวบ้าน สักที!!!
มาให้ชาวบ้านเค้าชื่นใจว่า ภาษีที่ชาวบ้านจ่ายเป็นเงินเดือนให้ราชการ มายาวนาน วันนี้ราชการได้รับใช้ ประชาชนแล้ว ...ไม่ใช่มาทำตัวเป็นเจ้านายคอยสั่ง คอยจับผิด
ขอบคุณที่รับฟัง
ดาวสุราษฎร์
ค่ะ ขอบคุณ คุณดาวสุราษฏร์ มากนะค่ะ ที่อุตส่าร์เข้ามาอ่าน ถูกค่ะ เหรียญมีสองด้าาน ต่างคนต่างช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน หากแต่ เราต้องยอมรับในตรงที่ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งชาวบ้าน และชาวต่างชาติ อาจจะมี ปัจจัยหลายอย่างทำให้ พวกเขาต้องการที่จะ ขุดลูกปัดขึ้นมา เพื่อขายให้พวกนักสะสม นั้นเราต้องยอมรับตรงที่ว่า ในสมัยนั้น ชาวบ้านได้เขามาทำลาย และค้นหาจริง ดิฉัน คิดว่า เรานำเสนอเรื่องจริง เสนอความเป็นจริงค่ะ สำหรับข้อเสนอที่คุณพูดถึง นั้นมันดีมากค่ะ แต่ดิฉันก็เป็นเพียงคนธรรมดา ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ จะทำอะไรได้ จะทำได้ก็เพียงแค่ นำเสนอความจริง ในเรื่องต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับ คนรุ่นหลัังค่ะ ขอบคุณ คุณดาวสุราษณ์ ค่ะ
อ่านแล้วได้ความรู้ดีครับ
ขอบตุณค่ะ คุณ P-chit คือดิฉันต้องการนำเสนอ ความจริง และ ความเป็นมา หากใครได้อ่านจะรู้ที่มาที่ไป และดีใจมา ที่ ทำให้หลายๆๆคนมีความรู้ เพิ่มขึ้นค่ะ
Post a Comment